วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ปณิธานแห่งชีวิต


อุดมคติ ที่หยั่งรากลึกลงแล้วนี้ ทำให้ท่านสนใจใฝ่หา
ความรู้ทางธรรมะตลอดเวลา ไม่เฉพาะแต่พระ
พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท หรือหินยาน แต่ครอบคลุม
ไปถึงพระพุทธศาสนา แบบมหายาน และศาสนาอื่น
เช่น คริสต์ อิสลาม ฮินดู สิกข์ เป็นต้น จากความรอบรู้
ที่กว้างขวาง และลึกซึ้ง นี้เอง ทำให้ท่านสามารถ
ประยุกต์ วิธีการสอน และปฏิบัติธรรมะได้อย่าง
หลากหลาย ให้คนได้เลือกปฏิบัติ ให้สอดคล้องกับ
พื้นความรู้และอุปนิสัยของตนได้ โดยไม่จำกัดชนชั้น
เชื้อชาติ และศาสนา เพราะท่านเชื่อว่า มนุษย์ทุกคน
ก็คือ เพื่อน ร่วม เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันหมดทั้งสิ้น
และหัวใจของทุกศาสนาก็เหมือนกันหมด คือ ต้องการ ให้คน พ้นจากความทุกข์
ท่านจึง ได้ตั้ง ปณิธานในชีวิตไว้ ๓ ข้อ คือ
๑. ให้พุทธศาสนิกชน หรือ ศาสนิกแห่งศาสนาใดก็ตาม
     เข้าถึง ความหมายอันลึกซึ้ง ที่สุดแห่งศาสนาของตน
๒. ทำความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา
๓. ดึงเพื่อนมนุษย์ให้ออกมาเสียจากวัตถุนิยม
แม้ในความพยายามที่จะทำตามปณิธานนี้ จะทำให้
บางคนไม่เข้าใจท่าน ไม่ชอบท่าน ด่าว่าท่าน หาว่า
ท่านจ้วงจาบ พระพุทธศาสนา เป็นเดียรถีย์
เป็นคอมมิวนิสต์ หรือ รับจ้างคนคริสต์ มาทำลายล้าง
พระพุทธศาสนา ก็ตาม แต่ท่านกลับรับฟัง คำวิจารณ์
เหล่านี้ด้วยใจเป็นกลาง ถือเป็นการแลกเปลี่ยนทาง
ความคิด ในเรื่อง เนื้อหา และหลักการ มากกว่า ที่จะ
ก่อความขัดแย้งส่วนตัว เพราะท่านมีหลัก ในการทำงาน
ว่า " พุทธบุตร ทุกคน ไม่มีกังวล ในการรักษาชื่อเสียง มี
กังวล แต่การทำความบริสุทธิ์เท่านั้น เมื่อได้ทำความ
บริสุทธิ์ มองเห็นชัดเจนใจ อยู่แล้วว่า นี่มันบริสุทธิ์
เป็นธรรมแท้ ใครจะชอบ หรือ ไม่ชอบก็ตาม เราต้องทำ ด้วยความพยายาม
อย่างสุดชีวิต จะมีชื่อเสียง หรือไม่นั้น อย่านึกถึงเลย เป็นอันขาด จะกลายเป็น
เศร้าหมอง และ หลอกลวง ไปไม่มาก ก็น้อย" 
ในที่สุด ท่านก็ได้รับการยอมรับ จากวงการ คณะสงฆ์ไทย วงการศึกษาของไทย
 และวงการศึกษาธรรมะของโลก ได้รับการยอมรับให้เป็นเสนาบดีแห่ง
กองทัพธรรมในยุคหลัง กึ่งพุทธกาล เยี่ยงพระมหากัสสป ในครั้งพุทธกาล 
สมณศักดิ์ที่ท่านได้รับ
๑. เป็นพระครูอินทปัญญาจารย์ พ.ศ. ๒๔๘๙
๒. เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระอริยนันทมุนี พ.ศ. ๒๔๙๓
๓. เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชชัยกวี พ.ศ. ๒๕๐๐
๔. เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพวิสุทธิเมธี พ.ศ. ๒๕๑๔
๕. เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมโกศาจารย์ พ.ศ. ๒๕๒๐
แม้ท่านจะมีชื่อ สมณศักดิ์ ตามลำดับ หลายชื่อ แต่ท่านจะใช้ ก็ต่อเมื่อมี
ความจำเป็นต้องติดต่อ ทางราชการ เท่านั้น ถ้าเป็นเรื่องอื่นแล้ว ท่านจะใช้
ชื่อว่า "พุทธทาส อินทปัญโญ" เสมอ แสดงให้เห็นถึงความอ่อนน้อม ถ่อมตัว
ของท่าน ประการหนึ่ง ชื่อ พุทธทาสนี้ เป็นที่มาแห่งอุดมคติ ของท่านนั่นเอง
ปริญญาทางโลก ที่ท่านได้รับ
๑. พุทธศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
     จาก มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๒๒
๒. อักษรศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญาและศาสนา
     จาก มหาวิทยาลัย ศิลปากร พ.ศ. ๒๕๒๘
๓. ปรัชญา ดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ สาขา วิชาศึกษาศาสตร์
     จาก มหาวิทยาลัย รามคำแหง พ.ศ. ๒๕๒๘
๔. ศิลปศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญา
     จาก มหาวิทยาลัย สงขลา นครินทร์ พ.ศ. ๒๕๒๙
๕. อักษรศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญา
     จาก จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๓๐
๖. การศึกษา ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพัฒนศึกษาศาสตร์
    จาก มหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. ๒๕๓๒
๗. ศิลปศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
    จาก มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๓๖
ในระดับนานาชาติ ปัจจุบัน ทุกมหาวิทยาลัย ที่มีแผนก สอนวิชาศาสนาสากล
ทั้งในยุโรป และ อเมริกาเหนือ ล้วน ศึกษางานของท่าน หนังสือของท่าน กว่า
๑๔๐ เล่ม ได้รับการแปลเป็น ภาษาอังกฤษ, กว่า ๑๕ เล่ม เป็นภาษาฝรั่งเศส,
และ อีก ๘ เล่ม เป็น ภาษาเยอรมัน นอกจากนั้น ยังแปลเป็นภาษา จีน อินโดนีเซีย
ลาว และ ตากาล็อค อีกด้วย กล่าวได้ว่า ในประวัติศาสตร์ไทย ท่านอาจารย์
พุทธทาส มีผลงานที่เป็น หนังสือแปลสู่ต่างประเทศ มากที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น